แผนที่ความคิด (MIND MAP) เป็นการนำเอาทฤษฎีที่เกี่ยวกับสมองไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด การเขียนแผนที่ความคิด (MIND MAP) นั้น เกิดจากการใช้ทักษะทั้งหมดของสมอง หรือเป็นการทำงานร่วมกันของสมองทั้ง 2 ซีก คือสองซีกซ้ายและซีกขวา ซึ่งสมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ คำ ภาษา สัญลักษณ์ ระบบ ลำดับ ความเป็นเหตุผล ตรรกวิทยา ส่วนสมองซีกขวาจะทำหน้าที่สังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความงาม ศิลป จังหวะ โดยมีแถบเส้นประสาทคอร์ปัสคอโลซั่มเป็นเสมือนสะพานเชื่อม
เหมือนกับเราจดบันทึกย่อแต่นำมาเขียนเป็นแผนภาพที่ใช้ สี รูปภาพ ข้อความสั้นๆ และ เส้น ที่มีการเชื่อมโยงกัน ช่วยเน้นให้จดจำได้ง่ายยิ่งขึ้น น่าสนใจดีครับ ลองเอาไปใช้ดูกันนะ :)
ความเป็นมาของ MIND MAP
โทนี บูซาน (Tony Buzan) เป็นชาวอังกฤษ เป็นผู้ได้ริเริ่ม พยายามนำเอาความรู้เรื่องสมองมาปรับใช้กับการเรียนรู้ของเขา โดยพัฒนาการจากการจดบันทึกแบบเดิมที่จดบันทึกเป็นตัวอักษรเป็นบรรทัด ๆ เป็นแถว ๆ ใช้ปากกาหรือดินสอสีเดียวมาเป็นการบันทึก ด้วยคำ ภาพ สัญลักษณ์ แบบแผ่เป็นรัศมีออกรอบ ๆ ศูนย์กลางเหมือนกับการแตกแขนงของกิ่งไม้โดยใช้สีสัน ต่อมาเขาก็พบว่าวิธีที่เขาใช้นั้นสามารถนำไปใช้กับกิจกรรมอื่นในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงานได้ด้วย เช่น ใช้ในการวางแผน การตัดสินใจ การช่วยจำ การแก้ปัญหา การนำเสนอ การเขียนหนังสือ เป็นต้น ซึ่งโทนี บูซาน ได้เขียนหนังสือ Use you Head (ใช้หัวคิด) และ Get Ahead (ใช้หัวลุย) ร่วมกับแวนด้า นอร์ธ (Vanda North) และนายธัญญา ผลอนันต์ ผู้แปลเป็นฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นผู้ที่นำแนวคิด วิธีการน้ำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาเรื่องนี้กับคุณธัญญา ผลอนันต์ และพบว่าวิธีการของ MIND MAP นั้นสามารถนำไปใช้ได้ทั้งชีวิตส่วนตัวและการงานจริง และเห็นว่าถ้านำแนวคิด เทคนิค วิธีการนี้ขยายผลในการศึกษา น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ที่มีหน้าที่จัดการเรียนรู้ เริ่มตั้งแต่การวางแผนจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในการเรียนรู้ สำหรับผู้เรียนนั้นจะสามารถพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ ศาสตร์และศิลปะด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สามารถช่วยคิด จำ บันทึก เข้าใจเนื้อหา การนำเสนอข้อมูลและช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องที่สนุกสนาน มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น
หลักการทำ MIND MAP
- เริ่มด้วยภาพสีตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษ ภาพ ๆ เดียวมีค่ากว่าคำพันคำ ซ้ำยังช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเพิ่มความจำมากขึ้นด้วย
- ใช้ภาพให้มากที่สุด ใน MIND MAP ของคุณตรงไหนที่ใช้ภาพได้ให้ใช้ก่อนคำสำคัญ (Key Word) หรือรหัส เป็นการช่วยการทำงานของสมอง ดึงดูดสายตาและช่วยจำ
- ควรเขียนคำสำคัญบรรจงตัวใหญ่ ๆ เป็นภาษาอังกฤษให้ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ เพื่อที่ว่าย้อนกลับมาอ่านใหม่จะให้ภาพที่ชัดเจน สะดุดตาอ่านง่าย และก่อผลกระทบต่อความคิดมากกว่าการใช้เวลาเพิ่มอีกเล็กน้อยในการเขียนตัวใหญ่ อ่านง่าย ชัดเจน จะช่วยให้เราสามารถประหยัดเวลาได้ เมื่อย้อนกลับมาอ่านใหม่อีกครั้ง
- เขียนคำสำคัญเหนือเส้นและแต่ละเส้นต้องเชื่อมต่อกับเส้นอื่น ๆ เพื่อให้ MIND MAP มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ
- คำสำคัญ ควรจะมีลักษณะเป็น "หน่วย" โดยคำสำคัญ 1 คำต่อเส้น 1 เส้น คำละเส้น เพราะจะช่วยให้แต่ละคำเชื่อมโยงกับคำอื่น ๆ ได้อย่างอิสระเปิดทางให้ MIND MAP คล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น
- ระบายสีให้ทั่ว MIND MAP เพราะสีช่วยยกระดับความจำ เพลินตา กระตุ้นสมองซีกขวา
- เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ควรปล่อยให้หัวคิดมีอิสระมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่ามัวคิดว่าจะเขียนลงตรงไหนดีหรือว่าจะใส่หรือไม่ใส่อะไรลงไปเพราะล้วนแต่จะทำให้งานล่าช้าอยางน่าเสียดาย (โทนี บูซาน เขียน ธัญญา ผลอนันต์ แปลและแปลงเป็นไทย อ้างถึง ใช้หัวคิด : 2540)
วิธีการเขียน MIND MAP
- เตรียมกระดาษเปล่าที่ไม่มีเส้นบรรทัดและวางกระดาษภาพแนวนอน
- วาดภาพสีหรือเขียนคำหรือข้อความที่สื่อหรือแสดงถึงเรื่องจะทำ MIND MAP กลางหน้ากระดาษโดยใช้สีอย่างน้อย 3 สีและต้องไม่ตีกรอบด้วยรูปทรงเรขาคณิต
- คิดถึงหัวเรื่องสำคัญที่เป็นส่วนประกอบของเรื่องที่ทำ MIND MAP โดยให้เขียนเป็นคำที่มีลักษณะเป็นหน่วย หรือเป็นคำสำคัญ (KEY WORD) สั้น ๆ ที่มีความหมาย บนเส้นซึ่งเส้นแต่ละเส้นจะต้องแตกออกมาจากศูนย์กลางไม่ควรเกิน 8 กิ่ง
- แตกความคิดของหัวเรื่องสำคัญแต่ละหัวเรื่องในข้อ 3 ออกเป็นกิ่งหลาย ๆ กิ่ง โดยเขียนคำหรือวลีบนเส้นที่แตกออกไป ลักษณะของกิ่งควรเอนไม่เกิน 60 องศา
- แตกความคิดรองลงไปที่เป็นส่วนประกอบของแต่ละกิ่ง ในข้อ 4 โดยเขียนคำหรือวลีเส้นที่แตกออกไป ซึ่งสามารถ แตกคิดความคิด ออไปได้เรื่อย ๆ ตามที่ความคิดจะไหลออกมา
- การเขียนคำ ควรเขียนด้วยคำที่เป็นคำสำคัญ (KEY WORD) หรือคำหลัก หรือเป็นวลีที่มีความหมายชัดเจน
- คำ วลี สัญลักษณ์ หรือรูปภาพใดที่ต้องการเน้นอาจใช้วิธีการทำให้เด่นเช่น การล้อมกรอบ หรือใส่กล่อง เป็นต้น
- ตกแต่ง MINDMAP ที่เด็กเขียนด้วยความสนุกสนานทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและเรื่องไก่ในระดับ ป.3, ป.4 ซึ่งให้ทั้งภาพและแนวคิดที่เชื่อมโยงต่อกัน
ข้อเสนอแนะในการเขียน MIND MAP
- การสร้างภาพศูนย์กลาง การทำภาพให้น่าสนใจ ดังนี้
- ภาพควรมีสีไม่น้อยกว่า 3 สี
- ขนาดของภาพไม่ควรมีขนาดใหญ่จนเกินไป ขนาดพอเหมาะประมาณ 2 ตารางนิ้ว
- ภาพไม่จำเป็นต้องมีภาพเดียว อาจมีหลาย ๆ ภาพ หรือหลาย สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น
- ภาพเป็นภาพที่มีลักษณะเคลื่อนไหวก็จะดี
- ไม่ควรจะใส่กรอบภาพศูนย์กลางเพราะกรอบอาจจะเป็นสิ่งที่สกัดกั้นการไหลของความคิด - การหาคำสำคัญ (KEY WORD) คำสำคัญควรมีลักษณะดังนี้
- ควรเป็นคำเดียว วลี หรือข้อความสั้น ๆ
- ควรเป็นคำที่สื่อความหมายได้ดี แสดงถึงจุดเน้น กระตุ้นความสนใจ ง่ายแก่การจำ - การหาความคิดรอง หรือการแตกกิ่ง ควรทำดังนี้
- เป็นคำสำคัญที่รองลงไปหรือเป็นส่วนประกอบที่เกี่ยวกับคำสำคัญ/คำกุญแจเพื่อเป็นการลงรายละเอียด
- ควรเขียนบนเส้นที่ต่อออกไปแต่เส้นจะเรียวลงไปเรื่อย ๆ
- ถ้าต้องการเน้นอาจทำให้เด่น เช่น การล้อมกรอบ ใส่กล่องหรือขีดเส้นใต้เป็นต้น
- คำ/ภาพ/เส้น บนสาขาเดียวกัน ควรใช้สีเดียวกัน
- การแตกกิ่งไม่ควรให้เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งควรให้สมบูรณ์ ควรแตกกิ่งให้ได้ภาพ MIND MAP ที่สมดุล
- การแตกกิ่งควรแตกทิศเฉียงมากกว่าบนล่าง
ตัวอย่างการเขียน Mindmap ด้วยคอมพิวเตอร์ เรื่อง หลักการของ Mind Map
source: http://www.prachasan.com/mindmapknowledge/mmcomputer.htm
ข้อมูลเพิ่มเติม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ งดใช้คำไม่สุภาพนะจ๊ะ