วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

มายาการแห่งหลอดด้าย โดยท่าน ว.วชิรเมธี


       เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนจาริกปฏิบัติศาสนกิจในฐานะพระธรรมทูตอยู่ที่มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา วันหนึ่งหลังจบการเสวนาธรรม สตรีสูงอายุคนหนึ่งขอโอกาสเข้ามานั่งคุยกับผู้เขียน ระหว่างการสนทนา ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า น้ำตาเธอคลอหน่วย เมื่อสอบถามถึงสาเหตุเธอจึงตอบว่า ที่น้ำตาคลอหน่วย เพราะรู้สึกดีใจที่ได้มาฟังธรรม แต่พร้อมกันนั้นก็เสียใจจนสะเทือนใจ ที่สะเทือนใจก็เพราะเธอรู้สึกว่า ตนเองได้พบกับธรรมะเมื่ออายุมากแล้ว จึงรู้สึกเสียดายวันเวลาที่ผ่านมา เธอเล่าว่า


"ชีวิตของคนเราก็เหมือนกับเส้นด้าย ที่ถูกดึงออกมาจากหลอดด้ายทีละนิดๆ ขณะที่ดึงด้ายออกมาจากหลอดด้ายนั้น บางทีเราก็รู้สึกกระหยิ่มว่า ยังมีด้ายเหลืออยู่อีกมากมาย จึงชะล่าใจจึงด้ายออกมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพื่อที่จะพบว่า แท้ที่จริงแล้ว มีด้ายอยู่เพียงนิดเดียว เย็บผ้าได้เพียงนิดหน่อยก็หมด หากแต่ที่เราเห็นว่า ยังคงมีด้ายเหลืออยู่เยอะแยะนั่นเป็นเพราะว่า แกนด้ายมันใหญ่ต่างหาก...แกนด้ายมันหลอกตาให้เราพลอยชะล่าใจ..."

พลันที่เธอเล่าจบ ผู้เขียนก็รู้สึกสว่างโพลงขึ้นมาในใจ ผู้หญิงคนนี้ เธอไม่ได้มาฟังเทศน์เสียแล้ว แต่เธอมาเทศน์ต่างหาก เธอกำลังเทศน์เรื่อง "ความสำคัญของเวลา" และ "คุณค่าของชีวิต" เคยได้ยินคำพูดในทำนองนี้บ่อยๆ ว่า เรามีเวลา ๒๔ ชั่วโมงต่อหนึ่งวันเท่ากัน ทว่าเราได้ประโยชน์จากเวลาไม่เคยเท่ากัน สำหรับบางคนเวลา ๒๔ ชั่วโมงช่างแสนสั้น แต่สำหรับบางคน ๒๔ ชั่วโมง ช่างเป็นเวลายาวนานเหลือแสน ผู้หญิงคนนี้เธอบอกว่า เธอเสียดายที่มีเวลาเหลืออีกไม่มาก อยากจะปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดก็เกรงว่าเวลาจะมีไม่พอ

ผู้เขียนจึงบอกว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่สำคัญที่เวลา แต่สำคัญที่ "ปัญญา" สำหรับคนมีปัญญากล้าแข็ง อย่าว่าเป็นวันเลย บางที นาทีเดียวก็บรรลุธรรมได้ สำหรับคนเขลา ต่อให้ภาวนาทั้งชีวิต บางทีก็ยังไม่เห็นผล คนที่อยู่ในวัยสนธยา จึงไม่ควรน้อยใจว่า เรามีเวลาไม่พอ แต่ควรจะบอกตัวเองว่า เรายัง "พอมีเวลา" ต่างหาก

แต่คนที่คิดว่าเรายัง "พอมีเวลา" ก็ต้องระวังด้วยเหมือนกัน เพราะบางทีการคิดด้วยท่าทีที่เป็นบวกอย่างนี้ ก็ทำให้ประมาท และเป็นเหตุให้พลาดโอกาสที่จะเร่งรัดทำสิ่งดีๆ

ดังนั้น นอกจากจะคิดว่ายังพอมีเวลาแล้ว ก็ควรจะคิดเพิ่มอีกอย่างหนึ่งว่า "วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต" ด้วย เพราะหากเราคิดว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต เราจะเริ่มคิดถึงสิ่งที่ต้องทำแข่งกับเวลา และนั่นจะทำให้เวลา กลายเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดของชีวิตได้ในทุกๆ วัน

เราเคยได้ยินพระท่านสอนอยู่บ่อยๆ ว่า การฆ่าสัตว์เป็นบาป แต่ผู้เขียนอยากบอกว่า การฆ่าเวลาต่างหากที่เป็นบาปมหันต์ยิ่งกว่า เพราะเมื่อคุณฆ่าสัตว์ หากสำนึกได้ คุณก็อาจจะไปหาสัตว์มาปล่อยเอาบุญ แต่หากคุณฆ่าเวลาด้วยวิธีใดก็ตาม ถึงแม้คุณจะสำนึกผิด กลับมาเห็นคุณค่าของเวลา ทว่าก็ไม่สามารถย้อนเวลาที่ผ่านไปแล้วให้หวนคืนกลับมาได้อีก เราทุกคนต่างก็มีเวลาที่ไม่อาจรีไซเคิล ไม่ว่าคุณจะมีเงินมหาศาลสักกี่ล้านล้านดอลล่าร์ก็ตามที สำหรับเวลานั้น ผ่านแล้ว ผ่านเลยนิรันดร์

ครั้งหนึ่งลีโอ ตอลสตอย เคยเขียนปริศนาธรรมไว้ว่า
"ใคร คือ คนสำคัญที่สุด
งานใด คือ งานที่สำคัญที่สุด
เวลาใด คือ เวลาที่ดีที่สุด"
ตอลสตอยตั้งคำถามนี้ผ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง และในที่สุดก็เฉลยว่า

"คนสำคัญที่สุด ก็คือ คนที่อยู่เบื้องหน้าเรา
งานสำคัญที่สุด ก็คือ งานที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้
เวลาที่ดีที่สุด ก็คือ เวลาปัจจุบันขณะ"
ทำไมคนที่อยู่เบื้องหน้าเราจึงสำคัญที่สุด คำตอบก็คือ อาจเป็นไปได้ว่า ในชั่วชีวิตอันแสนสั้นนี้ เรากับเขาอาจมีโอกาสพบกันได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้น เราจึงควรทำให้การพบกันทุกครั้ง เป็นเหมือนการเฉลิมฉลองอันแสนวิเศษที่ต่างฝ่ายต่างควรสร้างความทรงจำแสนงามไว้ให้แก่กันและกันตลอดไป

เราต้องไม่ลืมว่า มนุษย์นั้น รู้เกลียดยาวนานกว่ารู้รัก หากการพบกันครั้งแรกนำมาซึ่งความรัก และหากเป็นการพบกันเพียงครั้งเดียวของชีวิตในอนันตจักรวาล นั่นก็นับว่า เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดแล้วสำหรับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน

ทำไมงานที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ จึงเป็นงานสำคัญที่สุด คำตอบก็คือ เพราะทันทีที่คุณปล่อยให้งานหลุดจากมือคุณไป งานก็จะกลายเป็นของสาธารณ์ หากคุณทำงานดี มันก็คือ อนุสาวรีย์แห่งชีวิต และหากคุณทำงานไม่ดี มันก็คือ ความอัปรีย์แห่งชีวิต

ตอนแรกคุณเป็นผู้สร้างงาน แต่เมื่อปล่อยงานหลุดจากมือไปแล้ว งานมันจะเป็นผู้ย้อนกลับมาสร้างคุณ

ทำไมเวลาที่ดีที่สุด จึงควรเป็นปัจจุบันขณะ คำตอบก็คือ เพราะเวลาทุกวินาทีจะไหลผ่านชีวิตเราเพียงครั้งเดียว ไม่ว่าคุณจะหวงแหนเวลาขนาดไหน มีเงินมากเพียงไร ก็ไม่มีใครสามารถรื้อฟื้นเวลาที่ล่วงไปแล้วให้คืนกลับมาได้

ทุกครั้งที่เวลาไหลผ่านเราไป หากเราไม่ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชีวิตของคุณก็พร่องไปแล้วจากปวงประโยชน์มากมายที่คุณควรได้จากห้วงเวลา

เวลาไม่มีตัวตน แต่หากเรามีปัญญา ก็สามารถสร้างคุณค่าที่เป็นรูปธรรมจากเวลาได้อเนกอนันต์ คน - - แม้มีตัวตนเห็นกันอยู่ชัดๆ แต่หากปฏิบัติไม่ถูกต่อเวลา ถึงมีตัวตนเป็นคนอยู่แท้ๆ แต่ชีวิตก็อาจว่างเปล่ายิ่งกว่าเวลา

ทุกวันนี้ เราทุกคนกำลังสาวด้ายแห่งเวลาในชีวิตออกมาใช้กันอยู่ทุกขณะจิต เคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่า เส้นดายแห่งเวลาในชีวิตของเราเหลือกันอยู่สักกี่มากน้อย เราถนัดแต่สาวด้ายออกมาใช้ หรือว่าเราใช้เส้นดายแห่งเวลาอย่างมีคุณค่าที่สุดแล้ว?

ที่มา: http://www.oknation.net/blog/lifesession/2008/12/03/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ งดใช้คำไม่สุภาพนะจ๊ะ

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

มายาการแห่งหลอดด้าย โดยท่าน ว.วชิรเมธี


       เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนจาริกปฏิบัติศาสนกิจในฐานะพระธรรมทูตอยู่ที่มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา วันหนึ่งหลังจบการเสวนาธรรม สตรีสูงอายุคนหนึ่งขอโอกาสเข้ามานั่งคุยกับผู้เขียน ระหว่างการสนทนา ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า น้ำตาเธอคลอหน่วย เมื่อสอบถามถึงสาเหตุเธอจึงตอบว่า ที่น้ำตาคลอหน่วย เพราะรู้สึกดีใจที่ได้มาฟังธรรม แต่พร้อมกันนั้นก็เสียใจจนสะเทือนใจ ที่สะเทือนใจก็เพราะเธอรู้สึกว่า ตนเองได้พบกับธรรมะเมื่ออายุมากแล้ว จึงรู้สึกเสียดายวันเวลาที่ผ่านมา เธอเล่าว่า


"ชีวิตของคนเราก็เหมือนกับเส้นด้าย ที่ถูกดึงออกมาจากหลอดด้ายทีละนิดๆ ขณะที่ดึงด้ายออกมาจากหลอดด้ายนั้น บางทีเราก็รู้สึกกระหยิ่มว่า ยังมีด้ายเหลืออยู่อีกมากมาย จึงชะล่าใจจึงด้ายออกมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพื่อที่จะพบว่า แท้ที่จริงแล้ว มีด้ายอยู่เพียงนิดเดียว เย็บผ้าได้เพียงนิดหน่อยก็หมด หากแต่ที่เราเห็นว่า ยังคงมีด้ายเหลืออยู่เยอะแยะนั่นเป็นเพราะว่า แกนด้ายมันใหญ่ต่างหาก...แกนด้ายมันหลอกตาให้เราพลอยชะล่าใจ..."

พลันที่เธอเล่าจบ ผู้เขียนก็รู้สึกสว่างโพลงขึ้นมาในใจ ผู้หญิงคนนี้ เธอไม่ได้มาฟังเทศน์เสียแล้ว แต่เธอมาเทศน์ต่างหาก เธอกำลังเทศน์เรื่อง "ความสำคัญของเวลา" และ "คุณค่าของชีวิต" เคยได้ยินคำพูดในทำนองนี้บ่อยๆ ว่า เรามีเวลา ๒๔ ชั่วโมงต่อหนึ่งวันเท่ากัน ทว่าเราได้ประโยชน์จากเวลาไม่เคยเท่ากัน สำหรับบางคนเวลา ๒๔ ชั่วโมงช่างแสนสั้น แต่สำหรับบางคน ๒๔ ชั่วโมง ช่างเป็นเวลายาวนานเหลือแสน ผู้หญิงคนนี้เธอบอกว่า เธอเสียดายที่มีเวลาเหลืออีกไม่มาก อยากจะปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดก็เกรงว่าเวลาจะมีไม่พอ

ผู้เขียนจึงบอกว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่สำคัญที่เวลา แต่สำคัญที่ "ปัญญา" สำหรับคนมีปัญญากล้าแข็ง อย่าว่าเป็นวันเลย บางที นาทีเดียวก็บรรลุธรรมได้ สำหรับคนเขลา ต่อให้ภาวนาทั้งชีวิต บางทีก็ยังไม่เห็นผล คนที่อยู่ในวัยสนธยา จึงไม่ควรน้อยใจว่า เรามีเวลาไม่พอ แต่ควรจะบอกตัวเองว่า เรายัง "พอมีเวลา" ต่างหาก

แต่คนที่คิดว่าเรายัง "พอมีเวลา" ก็ต้องระวังด้วยเหมือนกัน เพราะบางทีการคิดด้วยท่าทีที่เป็นบวกอย่างนี้ ก็ทำให้ประมาท และเป็นเหตุให้พลาดโอกาสที่จะเร่งรัดทำสิ่งดีๆ

ดังนั้น นอกจากจะคิดว่ายังพอมีเวลาแล้ว ก็ควรจะคิดเพิ่มอีกอย่างหนึ่งว่า "วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต" ด้วย เพราะหากเราคิดว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต เราจะเริ่มคิดถึงสิ่งที่ต้องทำแข่งกับเวลา และนั่นจะทำให้เวลา กลายเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดของชีวิตได้ในทุกๆ วัน

เราเคยได้ยินพระท่านสอนอยู่บ่อยๆ ว่า การฆ่าสัตว์เป็นบาป แต่ผู้เขียนอยากบอกว่า การฆ่าเวลาต่างหากที่เป็นบาปมหันต์ยิ่งกว่า เพราะเมื่อคุณฆ่าสัตว์ หากสำนึกได้ คุณก็อาจจะไปหาสัตว์มาปล่อยเอาบุญ แต่หากคุณฆ่าเวลาด้วยวิธีใดก็ตาม ถึงแม้คุณจะสำนึกผิด กลับมาเห็นคุณค่าของเวลา ทว่าก็ไม่สามารถย้อนเวลาที่ผ่านไปแล้วให้หวนคืนกลับมาได้อีก เราทุกคนต่างก็มีเวลาที่ไม่อาจรีไซเคิล ไม่ว่าคุณจะมีเงินมหาศาลสักกี่ล้านล้านดอลล่าร์ก็ตามที สำหรับเวลานั้น ผ่านแล้ว ผ่านเลยนิรันดร์

ครั้งหนึ่งลีโอ ตอลสตอย เคยเขียนปริศนาธรรมไว้ว่า
"ใคร คือ คนสำคัญที่สุด
งานใด คือ งานที่สำคัญที่สุด
เวลาใด คือ เวลาที่ดีที่สุด"
ตอลสตอยตั้งคำถามนี้ผ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง และในที่สุดก็เฉลยว่า

"คนสำคัญที่สุด ก็คือ คนที่อยู่เบื้องหน้าเรา
งานสำคัญที่สุด ก็คือ งานที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้
เวลาที่ดีที่สุด ก็คือ เวลาปัจจุบันขณะ"
ทำไมคนที่อยู่เบื้องหน้าเราจึงสำคัญที่สุด คำตอบก็คือ อาจเป็นไปได้ว่า ในชั่วชีวิตอันแสนสั้นนี้ เรากับเขาอาจมีโอกาสพบกันได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้น เราจึงควรทำให้การพบกันทุกครั้ง เป็นเหมือนการเฉลิมฉลองอันแสนวิเศษที่ต่างฝ่ายต่างควรสร้างความทรงจำแสนงามไว้ให้แก่กันและกันตลอดไป

เราต้องไม่ลืมว่า มนุษย์นั้น รู้เกลียดยาวนานกว่ารู้รัก หากการพบกันครั้งแรกนำมาซึ่งความรัก และหากเป็นการพบกันเพียงครั้งเดียวของชีวิตในอนันตจักรวาล นั่นก็นับว่า เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดแล้วสำหรับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน

ทำไมงานที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ จึงเป็นงานสำคัญที่สุด คำตอบก็คือ เพราะทันทีที่คุณปล่อยให้งานหลุดจากมือคุณไป งานก็จะกลายเป็นของสาธารณ์ หากคุณทำงานดี มันก็คือ อนุสาวรีย์แห่งชีวิต และหากคุณทำงานไม่ดี มันก็คือ ความอัปรีย์แห่งชีวิต

ตอนแรกคุณเป็นผู้สร้างงาน แต่เมื่อปล่อยงานหลุดจากมือไปแล้ว งานมันจะเป็นผู้ย้อนกลับมาสร้างคุณ

ทำไมเวลาที่ดีที่สุด จึงควรเป็นปัจจุบันขณะ คำตอบก็คือ เพราะเวลาทุกวินาทีจะไหลผ่านชีวิตเราเพียงครั้งเดียว ไม่ว่าคุณจะหวงแหนเวลาขนาดไหน มีเงินมากเพียงไร ก็ไม่มีใครสามารถรื้อฟื้นเวลาที่ล่วงไปแล้วให้คืนกลับมาได้

ทุกครั้งที่เวลาไหลผ่านเราไป หากเราไม่ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ชีวิตของคุณก็พร่องไปแล้วจากปวงประโยชน์มากมายที่คุณควรได้จากห้วงเวลา

เวลาไม่มีตัวตน แต่หากเรามีปัญญา ก็สามารถสร้างคุณค่าที่เป็นรูปธรรมจากเวลาได้อเนกอนันต์ คน - - แม้มีตัวตนเห็นกันอยู่ชัดๆ แต่หากปฏิบัติไม่ถูกต่อเวลา ถึงมีตัวตนเป็นคนอยู่แท้ๆ แต่ชีวิตก็อาจว่างเปล่ายิ่งกว่าเวลา

ทุกวันนี้ เราทุกคนกำลังสาวด้ายแห่งเวลาในชีวิตออกมาใช้กันอยู่ทุกขณะจิต เคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่า เส้นดายแห่งเวลาในชีวิตของเราเหลือกันอยู่สักกี่มากน้อย เราถนัดแต่สาวด้ายออกมาใช้ หรือว่าเราใช้เส้นดายแห่งเวลาอย่างมีคุณค่าที่สุดแล้ว?

ที่มา: http://www.oknation.net/blog/lifesession/2008/12/03/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ งดใช้คำไม่สุภาพนะจ๊ะ